ลดต้นทุน…ด้วยคำถาม

Appreciative Inquiry  บทความนี้ ถูกคัดลอก และนำมาอธิบายซ้ำ
เครดิต ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง AITHAILAND

https://www.gotoknow.org/posts/320910

 

เราคงเคยได้ยินคำว่า  องค์กรพยายามลดต้นทุนกันบ่อยๆ
นักศึกษาบริหารธุรกิจจะทำ Project กับอาจารย์ก็มาละ “ลดต้นทุน” ที่สนุกหน่อย ก็ Lean

แต่ถ้าใครเคยไปเกี่ยวข้องกับโครงการแบบนี้ด้วย มักเหนื่อยครับ
บางทีเห็นตัวเลขต้นทุนที่ลดได้จริง แต่ก็ไม่มาก
ผู้บริหารบางคน พยายามอย่างสิ้นหวัง
ด้วยการติดกราฟแสดงค่าไฟ ค่าน้ำ ติดคำขวัญในห้องน้ำก็แล้ว
ก็ดูไม่ค่อยจะทำอะไรได้ ทำให้โครงการ Lean ก็แล้วกลายเป็นลีบ บีบคั้น คับแค้นไปในที่สุด

 

 

โครงการลดต้นทุน หรือ Lean ส่วนใหญ่ จึงคล้ายๆ กับคนที่พยายามลดความอ้วน
ลดได้สักพักก็เจอ Yo Yo effect เลยกลับมาอ้วนยิ่งว่าเดิม
ที่สนุกกว่านั้น น่าจะแทนด้วยคำถามของชาวชุมชนเราคนหนึ่ง
ที่ถามผมว่า “อาจารย์ครับ โครงการผมเป็นโครงการลดต้นทุนในโรงงานแปรรูปกุ้ง
ที่คนงานเป็นคนพม่า ค่าแรงก็ถูกแสนถูกอยู่แล้ว จะไปลดทำไมอีกครับ”

 

ในมุมมองของผม Project นี้เลยกลายเป็นโครงการที่ท้าทายความคิดพวกเราได้สุดขีด
ผมเลยคุยกับเทพดรุณ โดยบอกว่า เรามาตั้งต้นกันที่นิยามของคำว่าต้นทุนกันดีกว่า
ผมถามเขาว่าต้นทุนคืออะไร คำตอบที่ได้ก็เหมือนคนทั่วไป ที่ตอบว่า
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต้นทุนค่าแรง  ครับไม่แปลก
เราเลยกลับมาทบทวนกันใหม่

 

จริงๆ แล้วต้นทุนไม่ได้หมายถึงค่าแรงเป็นเงิน
หรือประหยัดวัสดุที่ใช้ผลิตเป็นตัวเงินอย่างเดียวครับ
นี่เป็นความหมายขั้นต้นเท่านั้น
จริงๆ แล้วนิยายามของต้นทุนยังครอบคลุมถึงคำว่า คุณภาพสินค้า เช่น
ถ้าเราทำสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น ของเสียก็น้อย (ต้นทุนก็ลด)
ที่สำคัญลูกค้าก็จะ claim สินค้าน้อยลง (ลดอีกครับ)
ส่งผลให้ชื่อเสียงมากขึ้น (เสียค่าโฆษณาน้อยลง เพราะลูกค้าบอกปากต่อปาก)
ยังไม่พอ ยังส่งมอบได้ตรงเวลาขึ้น (Delivery) กรณีหลัง สำคัญมากๆ
โดยเฉพาะพวกส่งออกครับ โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออก (รับจ้างผลิตให้ยี่ห้อดัง) แถวกรุงเทพ
ผลิตไม่ทันส่งมอบ ตามสัญญาแทนที่จะต้องส่งทางเรือ เลยต้องส่งออกทางเครื่องบิน จนกระทั่งเจ๊งไปเลยครับ

 

ในมุมมองของผมต้นทุนยังมองได้ด้วยมิติอื่นๆ อีกครับ
ในมุมมองของ Appreciative Inquiry สามารถมองได้อย่างนี้ครับ
วันที่ต้นทุนลด คือ “วันที่คุณทำงานเก่งขึ้น” หรือ
“วันที่คุณสร้างระบบอะไรบางอย่างแล้วทำให้ระบบมันทำงานแทนคุณได้”

 

 

ตามประสบการณ์ของผมในทุกระบบงาน มีใครสักคนที่อยู่มาวันหนึ่งก็ทำงานเก่งขึ้น
เพราะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น หรือไปเรียนจากคนอื่นๆมา
หรือบางครั้งงานมันดีขึ้นมา เพราะมีใครสักคนพยายามพัฒนาระบบ
เพื่อช่วยให้ตนเองทำงานเหนื่อยน้อยลง เหตุการณ์พิเศษเหล่านี้ เป็นที่มาของต้นทุนที่ลดลงเสมอครับ

 

 

สำหรับโครงการนี้
เมื่อพยายามลดต้นทุนแบบ AI
ว่าแล้วเขาก็เริ่มต้นถามคนงานด้วยคำถามที่ว่า
“ให้ลองนึกถึงวันที่คุณทำงานเก่งขึ้น วันนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น”
ตัดภาพมานิดหนึ่งนะครับ คนงานชาวพม่าทำงานได้ค่าแรง
ตามจำนวนกุ้งที่แกะได้ ยิ่งแกะได้มาก (และต้องไม่เสีย) ก็จะได้ค่าแรงมาก
คนงานบางคนเครียด เพราะได้ค่าจ้างไม่มากพอ พยายามทำให้เร็วขึ้น กุ้งก็เสียอีก

 

balloons-874841_1920

 

ถามไปซักพักก็ได้ความแล้วครับ ที่เก่งขึ้นเพราะไปดูตัวอย่างคนโน้นมา
ในที่สุดเราก็ไปดูวิธีการแกะกุ้งของคนที่เร็วกว่า ก็พบว่าเขาแกะได้เร็วเพราะมีวิธีเฉพาะตัว
ที่สำคัญกุ้งไม่เสียด้วย ได้ทั้งความเร็วและคุณภาพ
ในที่สุดเราก็จัดโครงการ KM ในหมู่คนงานพม่าขึ้นมา
นอกจากนี้ยังได้วิธีล้างกุ้งไม่ให้เสียจากคนงานอาวุโสคนหนึ่ง
ได้วิธีการขนกุ้งขึ้นเพื่อบรรทุกไปห้องเย็น โดยได้พื้นที่มากกว่าเดิม 30% จากคนงานกลุ่มหนึ่ง
เมื่อวัดผลออกมา ปรากฏคนงานแกะกุ้งได้มากขึ้น มีความสุขมากขึ้น (เพราะได้ค่าแรงมากขึ้น)
โรงงานได้วิธีการ และกระบวนการทำงานใหม่ที่ทำให้กุ้งเสียหายน้อยลง ได้วิธีการฝึกอบรมคนงานใหม่ครับ

 

ภูมิปัญญาทั้งหมดนี้มาจากคนงานที่ทำงานอยู่ทุกวันนี่แหละครับ เ
พียงแต่ไม่มีใครไปคุยกับเขาเป็นเรื่องเป็นราวนั่นเอง

 

ลองกลับไปคุยและตั้งคำถามดีๆกับคนทำงาน  ที่คุณอาจเคยมองข้ามไปสิครับ
บางทีอาจทำให้คุณได้อะไรแบบที่ชนิดที่นึกไม่ถึง
แล้วคุณจะลดต้นทุนได้จริงๆ และไม่เหนื่อยมากเกินไป

Facebook Comments Box