Appreciative Inquiry เพื่อองค์กรแห่งการเรียนรู้ (12)

 
Appreciative Inquiry  บทความนี้ ถูกคัดลอก และนำมาอธิบายซ้ำ
เครดิต ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง AITHAILAND
การเรียนรู้จากกลุ่มตัวอย่างแบบสุดขั้ว
เรียนรู้จากคนที่ทำอะไรแบบธรรมดา
เราก็จะได้ความรู้ธรรมดาๆ
เรียนรู้จากคนไม่ธรรมดา เราจะได้ความรู้ไม่ธรรมดา

วันนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมอยากเล่าที่สุดประสบการณ์หนึ่ง
อาจมีการกล่าวถึงในวงการผู้สนใจ AI น้อยมากครับ
คือ เรื่องกลุ่มคนพิเศษ

 

เวลาผมทำ AI กับกลุ่มผู้ประกอบการ หรือนักบริหารและนักเรียน
เราจะไม่เน้นที่คำถามแบบ AI และถามคนกลุ่มใหญ่อย่างเดียว
เรามักจะมองหาคน “พิเศษสุดๆ”
คนพิเศษสุดนี่ถ้าวิจัยด้วยสถิติจะเป็นพวกหลุดขอบค่าเฉลี่ย (Outliner)
ทำไมควรมองหาครับ

 

marigold-1522592_1920

 

ตามประสบการณ์ของเรา ความรู้ที่ได้จากคนกลุ่มนี้ สามารถเอามาใช้ปรับปรุงกิจการ
และส่งผลให้เกิดการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น สร้างผลประกอบการณ์ที่ดีได้จริง
ในส่วนอื่นๆ เช่นด้านการศึกษา หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็จะให้อะไรที่น่าสนใจ
ฟังแล้วตื่นเต้นน่าทึ่งครับลองดูตัวอย่างการ “เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบ Outliner ของพวกเราดูนะครับ”

 

กรณีแรก อันนี้มันส์ครับ เป็นการใช้ AI เพื่อค้นหาแนวทางการเรียนฟิสิกส์ของคุณสมฤดีครับ
เราคัดตัวอย่างสนุกๆกันครับ

 

คุณสมฤดีเป็นวิศวกรเคยติดกลุ่ม 1-50 ของฟิสิกส์โอลิมปีก
มีน้องสาวเป็นหมอ ก็เลยเล่นกันอย่างนี้ครับ
“ลองหาหมอและวิศวกรประเภทไม่ใส่แว่น (ไม่รวมพวกทำ เลสิกส์)
ตอนเด็กๆ เรียนฟิสิกส์เก่งๆ แล้วลองไปถามว่าตอนเด็กคนกลุ่มนี้ใช้เวลาว่างทำอะไร”

 

เราได้ไม่กี่คนครับ แต่คำตอบทำให้ทึ่ง คือ
มีคนหนึ่งชื่อ พี่สุทิน คนนี้ที่หนึ่งคณะแพทย์ศาสตร์ครับ
ตอนเด็กพี่เขาบอกว่า “อ่านหนังสือกำลังภายใน”
ส่วนวิศวกรเพื่อนของผมอีกคน คนนี้สอนฟิสิกส์เก่ง พูดเหมือนกันเลยครับ
พูดง่ายๆครับ หมอและวิศวที่เก่งฟิสิกส์พูดเหมือนกันครับว่า “อ่านกำลังภายใน”
อันนี้เป็นกลุ่มผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิง คุณหมอคนหนึ่งเรียนหมอมาจนจบเอก
ไม่เคยใส่แว่น สุขภาพจิตดีมาก คนนี้จะพูดเหมือนกันกับวิศวกรที่เก่งๆอย่างสมฤดีคือ
“หนูอ่านนิทานเด็กและนิยายวิทยาศาสตร์ค่ะ”

 

เป็นไปได้ไหมครับ เราควรปลูกฝังให้เด็กๆ อ่านวรรณกรรมจนโต
เพราะอาจมีส่วนช่วยพัฒนาสมองให้เกิดการเชื่อมโยงได้ดีกว่า

 

กรณีที่สองคุณจุราพร ทำเรื่อง Positive Aging ในโรงพยาบาลแถวมหาสารคาม
อันนี้ กลุ่มตัวอย่างเรากำหนดไว้ Outliner สุดๆเหมือนกันคือ
“ให้มองหาคนสูงอายุที่เดินเข้าโรงพยาบาลมา
ต้องเป็นคนดูมีความสุข ยิ้มแย้มเบิกบาน”
คุณจุราพร บอกว่าหายากมากอาจารย์ แต่ก็เจอจนได้
สัมภาษณ์ไปสัมภาษณ์มา ก็เจออะไรแปลกๆอีกครับ
จุดร่วมของผู้สูงอายุที่ดูสุขภาพจิตดี เบิกบานนั้น
อธิบายได้ด้วยคำบอกเล่าของผู้สูงอายุรายหนึ่งคือ
“ป้าวางแผนการเงินดีค่ะ คือก่อนเกษียณ 10 ปี
ก็วางเรื่องการเงินอย่างดีแล้ว จะได้ไม่เป็นกังวล”
ผมฟังแล้วทึ่งครับ

 

นี่มันการแพทย์แบบองค์รวมชัดๆ กลายเป็นว่า
ถ้าเราจะวางแผนให้คนสูงอายุอยู่อย่างเบิกบานและป่วยน้อยลง
สิ่งที่เราต้องทำคืออาจจะเป็น “ต้องส่งเสริมการวางแผนเรื่องการเงินแต่เนิ่นๆ ครับ”

 

ผมมองว่ากลุ่ม Outliner นี่แหละครับ
เป็นกลุ่มที่จะทำให้เราได้ความรู้ที่นึกไม่ถึงทีเดียว
การทำ AI Projects ของเราทุกโครงการจะไม่ลืมที่จะหาคนกลุ่มพิเศษนี้ให้เจอครับ

Facebook Comments Box